Play Art House ปรับโกดังรองเท้าเป็นแกลเลอรีร่วมสมัยแห่งแรกของทรงวาด
Arts & Culture

Play Art House ปรับโกดังรองเท้าเป็นแกลเลอรีร่วมสมัยแห่งแรกของทรงวาด

Focus
  • Play Art Houseเป็นแกลเลอรีงานศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกบนถนนทรงวาด ย่านที่เคยเป็นแหล่งการค้าอาหารทะเลและพืชผลทางการเกษตร
  • เกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ ผู้ก่อตั้งแบรนด์รองเท้าแตะ lollipachypop และทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านขายส่งรองเท้าในย่านสำเพ็งเป็นผู้ฟื้นชีวิตให้แก่อาคารหลังเก่าอายุร่วม 100 ปีที่เคยเป็นโกดังเก็บรองเท้าให้กลับมามีชีวิตในบทบาทใหม่ด้านศิลปะ

ย่านทรงวาด ในอดีตเป็นแหล่งท่าเรือสำคัญสำหรับการค้าอาหารทะเลและพืชผลทางการเกษตร แต่ปัจจุบันทรงวาดกลับเงียบสงบซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความคึกคักของย่านเยาวราชและสำเพ็งแม้อยู่ห่างกันเพียงแค่ช่วงบล็อกถนน อาคารหลายหลังสไตล์ชิโน-ยูโรเปียนประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นลายผลไม้และเครือเถาแสดงถึงย่านการค้าอันรุ่งเรืองในอดีตของย่านทรงวาดที่ยังคงความสมบูรณ์กว่าตึกแถบสำเพ็งและเยาวราช แต่อาคารที่เด่นสะดุดตาในย่านนี้คืออาคารพาณิชย์ 2 ชั้นครึ่งขนาด 3 คูหาทาสีน้ำเงินตัดกับประตูและหน้าต่างเหล็กดัดสีดำและด้านหน้าอาคารมีเสากลมประดับตามแบบสถาปัตยกรรมโรมัน เหนือประตูแขวนป้ายทรงกลมเขียนว่า Play Art House พร้อมโลโก้รูปหัวเสาแบบโรมัน

Play Art House

Play Art House เปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนในฐานะแกลเลอรีงานศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกบนถนนทรงวาดที่ก่อตั้งโดย อุ๊ย-เกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ ผู้คืนชีวิตให้แก่อาคารหลังเก่าอายุร่วม 100 ปีให้กลับมามีชีวิตในบทบาทใหม่ อุ๊ยไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านไฟน์อาร์ตหรือจับธุรกิจเกี่ยวกับศิลปะมาก่อนเลย ตรงกันข้ามเขาเป็นทายาทเจ้าของกิจการขายส่งรองเท้าในย่านสำเพ็งจนกระทั่งขยับขยายมาทำแบรนด์รองเท้าแตะของตัวเองในชื่อ Iollipachypop

“ผมชอบวาดรูปแนวนามธรรมเป็นงานอดิเรก ไม่ได้เรียนศิลปะที่ไหนแต่ก็วาดแบบลองผิดลองถูก ยิ่งวาดก็ยิ่งสนุกทำให้มีงานมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกจะปรับปรุงตึกนี้ที่เป็นโกดังเก็บรองเท้าโดยให้พื้นที่ด้านหน้าให้เป็นไปรเวตแกลเลอรี เพื่อเก็บงานของตัวเอง แต่พอรีโนเวตไปเรื่อย ๆ ก็ทำทั้งตึกและผมกับภรรยา (เอ๋-พัชรินทร์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ) เห็นตรงกันว่าควรทำเป็นแกลเลอรีเพราะย่านนี้ยังไม่มี คนแถวนี้ทำงานไม่มีเวลาไปหอศิลป์ จึงอยากให้เข้ามาชาร์จแบตเตอรี่ที่นี่หลังจากทำงานมาเหนื่อยๆ”

อุ๊ยเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเปิดแกลเลอรี โดยปรับพื้นที่ชั้นล่างขนาด 120 ตารางเมตรให้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ส่วนด้านบนยังใช้เป็นโกดังเก็บรองเท้า

“เราใช้เวลารีโนเวตประมาณ 5 เดือน ถ้าจะนับอายุของตึกหลังนี้ไม่ต่ำกว่า 100 ปี คุณพ่อเล่าให้ฟังว่าที่นี่เป็นบ้านแรก ๆ ในย่านนี้ที่มีโทรทัศน์ เด็ก ๆ ในละแวกนี้มักจะมาดูทีวีกันที่นี่ ต่อมาภายหลังเจ้าของเดิมต้องการขายคุณพ่อจึงซื้อไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้วและเปิดเป็นภัตตาคารจีนชื่อว่า ‘พาโชค’ แต่ตกแต่งภายในแบบฝรั่งจึงมีเสาประดับแบบโรมัน เปิดได้ 4-5 ปีก็เลิกกิจการและใช้เป็นโกดังเก็บรองเท้าเรื่อยมากว่า 20 ปี”

อุ๊ยเลือกที่จะเก็บเสาประดับโรมันไว้เพื่อเป็นความทรงจำถึงพ่อและยังปรับมาใช้เป็นโลโก้ของแกลเลอรี ส่วนชื่อ Play Art House แฝงด้วยเรื่องราวความรักของอุ๊ยกับเอ๋ซึ่งทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมชั้นในสาขาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ และพบรักกันขณะทั้งคู่รับบทพระเอกและนางเอกละครเวทีของคณะ

“เราไม่มีประสบการณ์การทำแกลเลอรีมาก่อน เรามีสเปซเองจึงไม่ต้องคำนึงถึงค่าเช่ามากมาย โชคชะตาทำให้เราพบเจอคนดี ๆ ได้เป็นเพื่อนกันและทำให้ทุกอย่างลุล่วงไปได้ด้วยดี ราวไฟและแสงทั้งหมดเราออกแบบเองเพราะเรามีพื้นฐานการจัดละครเวทีมาก่อน ด้วยความที่เราก็เป็นมือใหม่ แกลเลอรีเราจึงอยากเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่มีพื้นที่แสดงงาน คิดถึงใจเขาใจเรา ใครมีงานอยากเสนอมาได้เลย เราไม่รู้ว่าที่อื่นมีเงื่อนไขอย่างไร แต่ที่ผ่านมาถ้างานขายได้ค่อยมีส่วนแบ่งกัน”

Play Art House เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 โดยจัดแสดงผลงานของอุ๊ยเพื่อเทสต์ระบบทั้งหมดก่อนที่จะแสดงงานของศิลปินท่านอื่น ๆ ส่วนนิทรรศการแรกคือผลงานภาพถ่ายของช่างภาพชาวอเมริกัน-ฝรั่งเศส Nathaniel Goldberg เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 

“คิวเรเตอร์ของ Nathaniel Goldberg มาเจอแกลเลอรีของเราโดยบังเอิญ เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อนและผมก็ไม่ทราบว่าเขาเป็นช่างภาพชื่อดังซึ่งถ่ายแฟชั่นให้แมกกาซีนระดับโลกมาแล้วมากมาย นี่ยังเป็นการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของเขาในเมืองไทยด้วย จากนั้นก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวที่เดินมาจากทาง River City Bangkok และตลาดน้อยเริ่มมาเที่ยวแถวย่านทรงวาด-ราชวงศ์ มากขึ้น”

นิทรรศการ “คนวาดเกี๊ยะ”

ถัดมาเป็นงานกลุ่มของศิลปินจำนวน 30 คน และต่อด้วยนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของย่านทรงวาดและครอบครัวของอุ๊ยได้เป็นอย่างดีคือนิทรรศการภาพวาดบนเกี๊ยะไม้ในชื่อว่า “คนวาดเกี๊ยะ” เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 

“อากงของผมอพยพมาจากจีนและเมื่อตั้งตัวได้ก็เขียนจดหมายให้อาม่าและลูก ๆ ตามมา อากงทำธุรกิจเกี๊ยะไม้ที่บริเวณวงเวียน 22 กรกฎา และต่อมาได้ซื้อบ้านแถวสำเพ็งและผมก็เกิดที่นี่ อากงมีลูก 10 คน พ่อเป็นคนที่ 9 ลูกทุกคนต้องทำเกี๊ยะไม้เป็นโดยพ่อผมมีหน้าที่วาดเกี๊ยะ จึงเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ ‘คนวาดเกี๊ยะ’ โดยผมเชิญศิลปิน 6 คนมาเพนต์งานบนแผ่นไม้ทรงเกี๊ยะ ก่อนทำงานผมพาศิลปินไปเดินรอบย่านทรงวาดเพื่อให้แต่ละคนเก็บแรงบันดาลใจของย่านนี้มาสร้างสรรค์เป็นผลงาน”

Play Art House
นิทรรศการ “คนวาดเกี๊ยะ”

เมื่ออากงเสียและเกี๊ยะไม้ลดความนิยมลง พ่อของอุ๊ยออกมาทำกิจการตัวเองโดยเปิดร้านขายส่งรองเท้าแตะแบบไม่มีแบรนด์ จนกระทั่งอุ๊ยและเอ๋แต่งงานและเข้ามาช่วยครอบครัวดูแลกิจการเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทั้งคู่เห็นว่าควรจะทำแบรนด์รองเท้าแตะเป็นของตัวเองจึงเกิดเป็นแบรนด์ Iollipachypop

“ในสำเพ็งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าส่งของไม่มีแบรนด์ที่รับมาจากที่ต่าง ๆ แต่เราอยากเป็นผู้นำที่ทำแบรนด์รองเท้าแตะของเราเองโดยเปลี่ยนจากวัสดุพีวีซีเป็นยางพารา ซึ่งทนทานและรีไซเคิลได้ ลวดลายบนรองเท้าเราก็ออกแบบเองทั้งหมด เราขายส่งอย่างเดียวโดยตลาดหลักอยู่ที่ประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา มาเลเซียและสิงคโปร์ เราจับกลุ่มตลาดล่าง-กลาง และส่งออกประมาณแสนคู่ต่อปี” เอ๋กล่าวเสริม

ร้านขายส่งรองเท้าของครอบครัวชื่อ “พาโชค2000” อยู่ในย่านสำเพ็งและห่างจากแกลเลอรีเพียง 400 เมตร จำหน่ายรองเท้าแตะหลายแบบหลากสีของ Iollipachypop ทั้งไซซ์ของทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กและของแบรนด์อื่น ๆ เต็มร้าน ที่แกลเลอรียังมีรองเท้าแตะคอลเล็กชันพิเศษสกรีนเป็นรูปโลโก้ของแกลเลอรีวางจำหน่ายด้วย

“ผมเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวต้องมาดูแลกิจการรองเท้าของที่บ้านหลังจากพ่อเสีย แต่ถามว่าอีกส่วนหนึ่งเราชอบอะไร ผมเป็นคนชอบศิลปะอยู่แล้ว พอได้มาหัดวาดรูปทำให้รู้สึกว่ามีแพสชันอยากจะทำ ปีที่แล้วผมยังไม่รู้เลยว่าปีนี้จะได้มาทำแกลเลอรี จนกระทั่งมีโอกาสบวกกับเป็นพื้นที่ของเราเอง”

นิทรรศการล่าสุดที่เพิ่งจบไปเมื่อปลายเดือนธันวาคมคือนิทรรศการลำดับที่ 5 ชื่อ “Puente สะพาน -A Link between Reality and Imagination” โดยศิลปินหญิงชาวชิลี คาริน่า รีเทิร์ต (Karina Retuert) 

Play Art House

“คาริน่าเป็นอีกคนหนึ่งที่บังเอิญมาเจอสถานที่ของเรา ปัจจุบันเธออยู่ที่กรุงเทพฯและเมื่อเห็นงานแนวนามธรรมของเธอแล้วทางเราก็ชอบ เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอในประเทศไทยที่รวบรวมผลงานทั้งเก่าและใหม่ ส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์ที่เธอประทับใจในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งที่ลาว บาหลี เม็กซิโก กระบี่ และกรุงเทพฯ และที่พิเศษคือภาพชื่อ Sunset ซึ่งเป็นภาพที่ศิลปินรักมากและนำติดตัวไปด้วยนานกว่า 10 ปีไม่ว่าเธอจะย้ายไปอยู่ที่ไหน

“เราทำตามกำลังที่ทำได้ เราคิวเรตงานที่จะแสดงเอง อนาคตเราอยากทำละครเวทีสักเรื่องและจัดแสดงที่นี่ เพราะเราจบศิลปะการแสดงกันทั้งคู่ แต่ไม่ได้ทำละครกันเลยตั้งแต่เรียนจบมา ความต้องการของผมคืออยากให้ที่นี่เป็นเวทีให้คนทำงานศิลปะไม่ว่าจะสาขาไหนได้มีพื้นที่แสดงผลงาน เราทำแล้วมีความสุขไม่ได้ทำเพื่อเงิน ผมกับเอ๋ก็ผลัดกันมาเฝ้าแกลเลอรี ได้เจอผู้คนมากมายยิ่งเป็นคนที่ชอบศิลปะเหมือนกันคุยกันยิ่งมีความสุข”

อุ๊ยและเอ๋วางแผนจะจัดนิทรรศการหมุนเวียนทุก 1-2 เดือน ตามกำหนดเดิมช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 ทางแกลลอรีจะมีนิทรรศการที่เป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดในขณะนี้ทำให้งาน Bangkok Design Week ต้องเลื่อนออกไป ทางแกลเลอรีจึงปิดชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

Fact File

  • Play Art House 993 ถนนทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
  • อัปเดตความเคลื่อนไหวของแกลเลอรีได้ที่ www.playarthouse.com หรือ Facebook.com/playarthouse
  • โทรศัพท์ : 09-9252-9191 หรือ 08-3656-5466

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"